วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

แห่ลงน้ำ


แม่น้ำโขง
เป็นแม่น้ำสายใหญ่ของโลกที่มีความยาวประมาณ ๔,๙๐๐ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก มีต้นน้ำอยู่บนภูเขาจี้ฟู ส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงทิเบต เขตจังหวัดหยู่ซู่ มณฑลฉิงไห่ ประเทศจีน โดยมีแม่น้ำจาคูและแม่น้ำอาคูไหลมารวมกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาของไทลื้อ ซึ่งเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงอย่างหนาแน่นในดินแดนสิบสองปันนาว่า “แม่น้ำล้านช้าง” คนจีนทั่วไปเรียกว่า “แม่น้ำหลานซาง” มีความหมายว่า เป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก และไหลผ่าน ๖ ประเทศ คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนออกสู่ทะเลจีนใต้ อีสาน แม่น้ำอิง แม่น้ำกก ในภาคเหนือ แม่น้ำงึม แม่น้ำเทิน แม่น้ำเซกอง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทะเลสาบโตนเลสาปของราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งต่อเนื่องกับลำธารของเทือกเขาสอยดาวฝั่งตะวันออกของจันทบุรี และแม่น้ำเซซาน ในประเทศเวียดนาม
แม่น้ำโขงมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลามากเป็นอันดับ ๓ ของโลก รองจากแม่น้ำอะเมซอนในอเมริกาใต้ และแม่น้ำแซร์ในทวีปแอฟริกา มีจำนวนพันธุ์ปลาที่สำรวจพบ ๑,๒๔๕ ชนิด มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ๗๙๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ในทุก ๆ ปี ปริมาณน้ำจากแม่น้ำโขงไหลลงสู่ทะเลจีนใต้เฉลี่ยสูงถึง ๔๗๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
แม่น้ำโขงตอนบนจะได้รับน้ำจากการละลายของภูเขาหิมะเป็นส่วนใหญ่ เช่น จากเทือกเขาหิมะเหม่ยลี่ ในแซงกรีลา ส่วนตอนล่างได้รับน้ำจากเทือกเขาต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง รวมทั้งจากฝนในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ทำให้เกิดน้ำท่วมทุกปีที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนาม ปลายของแม่น้ำโขงที่ประเทศเวียดนามนี้ได้แยกออกเป็น ๙ สายก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ คนเวียตเรียกว่า “๙ มังกร” สามเหลี่ยมดินดอนปากแม่น้ำนี้จึงเป็นที่สะสมตะกอนดินซึ่งมีคุณค่า เป็นปุ๋ยธรรมชาติชั้นดี และเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดีแห่งหนึ่งของโลก
ด้วยความยาวของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป ทำให้แม่น้ำโขงมีความหลากหลาย ของทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์พืช พันธุ์ปลา และมีความหลากหลายของวิถีชีวิตของผู้คนกว่า ๑๐๐ ชนเผ่า ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้านคน และยังเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เช่น เมืองหลวงพระบาง นครวัดนครธม แหล่งอารยธรรมบ้านเชียง แหล่งโบราณคดีเชียงแสนหลวง
แม่น้ำโขงในประเทศไทย
แม่น้ำโขงส่วนที่ผ่านประเทศไทยเป็นช่วงของแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งไหลผ่าน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และอ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ระยะทาง ๘๔ กิโลเมตร ก่อนเข้าสู่ประเทศลาว และไหลเป็นพรมแดนไทย – ลาวเริ่มจาก จ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมความยาวที่ไหลผ่านประเทศไทยประมาณ ๙๗๖ กิโลเมตร
ในภาคเหนือแม่น้ำคำ แม่น้ำกก และแม่น้ำอิง ไหลลงสู่แม่น้ำโขง บริเวณนี้จะมีลักษณะภูเขาและเนินเขาทอดยาวในแนวเหนือใต้ โดยจะมีที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาและบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำและหนองน้ำต่าง ๆ ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญต่อการขยายพันธุ์ปลา สัตว์น้ำ พันธุ์ไม้น้ำ เป็นพื้นที่ดูดซับน้ำ ป้องกันอุทกภัย ตลอดถึงการกรองสารเคมี สิ่งแปลกปลอมก่อนลงสู่แม่น้ำโขง
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตที่ราบสูงโคราช ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะเอียงลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำมูนและแม่น้ำชีไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่อำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี บริเวณตอนปลายของที่ราบสูงจะเป็นเนินกว้างลาดชันแยกจากลุ่มน้ำย่อยของทะเลสาบเขมร ในภาคอีสานยังถูกแบ่งโดยแนวเทือกเขาภูพาน ตอนเหนือเป็นแอ่งสกลนคร มีแม่น้ำสงคราม แม่น้ำอูน และไหลไปลงสู่แม่น้ำโขง
สภาพแม่น้ำโขงในภาคเหนือเป็นแก่งหินและหน้าผา แม่น้ำไม่กว้างนักไหลผ่านขุนเขาสองข้างไปจนสุดแดนไทยลาวที่อำเภอเวียงแก่น และเป็นลักษณะเช่นนี้ไปจนถึงหลวงพระบางในลาว ส่วนสภาพแม่น้ำโขงในภาคอีสาน สายน้ำแผ่กว้างออก ประกอบไปด้วยชายฝั่งและหาดทราย และจะพบเกาะแก่งเป็นจำนวนมากอีกครั้งที่สี่พันดอนในประเทศลาว
แม่น้ำโขงในบริเวณของประเทศไทยมีความแตกต่างของระดับน้ำในฤดูแล้งกับฤดูน้ำหลากสูงถึง ๒๐ เมตร เป็นฤดูกาลของน้ำตามธรรมชาติที่นำไปสู่วิถีชีวิตและวิถีการผลิตของชุมชนที่พึ่งพากับแม่น้ำสายนี้ แต่ในปัจจุบันฤดูกาลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในมณฑลยูนนานของประเทศจีน และสภาวะแล้งของต้นน้ำลำธาร
แม่น้ำโขงกับความเชื่อพื้นบ้าน

คนไทยและคนลาวมีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค หรืองูขนาดใหญ่ที่มีฤทธิ์มาก ว่าอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง ตำนานพญานาคที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงก็เช่น ตำนานวังนาคินทร์คำชะโนด
นอกจากนี้ ทุกวันออกพรรษาจะมีประชาชนจำนวนมากไปเยือนริมฝั่งแม่น้ำของในประเทศไทย แถบอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เพื่อดูปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดเป็นอย่างมาก จังหวัดที่มีปรากฏการณ์บั่งไฟพญานาคที่มีประชาชนนิยม


ไปเฝ้าดูมากที่สุด คือ จังหวัดหนองคาย ซึ่งในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีกลุ่มนักวิจัยจากหลายสถาบันได้ออกมาชี้ชัด หรือหาหลักฐานอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว ว่าเกิดจากกลุ่มก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในแม่น้ำโขง อาทิเช่น ก๊าซมีเทน เป็นต้น แต่ก็ยังมีได้มีหลักฐานชี้ชัดเป็นที่แน่นอน ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดจากการกระทำของพญานาค หรือ เกิดจากการกระทำของธรรมชาติกันแน่
แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญสำหรับการชมภูมิทัศน์ของลำน้ำโขงที่มีชื่อเสียงได้แก่ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ตอนบนของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่างพรมแดน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และพม่า
เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง
เขื่อนขนาดใหญ่มากกว่า ๑๐๐ เขื่อน ถูกกำหนดให้มีขึ้นบนลำน้ำโขงและแม่น้ำสาขา โดยได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากสถาบันหลัก คือ ธนาคารพัฒนาเอเซีย ธนาคารโลก และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งทั้ง ๓ สถาบัน เป็นองค์กรโลกบาลที่มีเป้าหมายชัดเจนในการควบคุมและจัดการแม่น้ำโขงเชิงพาณิชย์
โครงการบางส่วนได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว และโครงการหลักที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อลุ่มน้ำโขงทั้งหมด คือ การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ๘ เขื่อน กั้นแม่น้ำโขงตอนบน หรือแม่น้ำหลานซางในประเทศจีน ภายใต้โครงการหลานซาง – เจียง ซึ่งเป็นโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยไม่สนใจเสียงทักท้วงและความวิตกกังวลของประเทศปลายน้ำว่า จะมีผลกระทบกับแม่น้ำโขง ระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างไรบ้าง รวมทั้งประเด็นที่จีนกำลังจะกลายเป็นผู้ควบคุมลำน้ำโขง แม่น้ำนานาชาติแต่เพียงผู้เดียว
น้ำ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวล โดยเฉพาะมนุษย์ ไม่ว่าจะตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใด ย่อมต้องหาแหล่งน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ไว้เป็นเบื้องต้น จังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการเกษตรกรรมที่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว พืชสวน พืชไร่ ผลไม้ ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น จึงควรได้ทราบถึงแหล่งที่มาของน้ำที่ได้รับ ดังนี้
แหล่งที่มาของน้ำ ในจังหวัดเพชรบุรี จำแนกได้ 2 ประเภท
1. แหล่งน้ำผิวดิน ( surface water )
2. แหล่งน้ำใต้ดิน (ground water)
ประวัติศาสตร์การพัฒนาในลุ่มน้ำโขง
ยุคสมัยการล่าอาณานิคม
ดินแดนแห่งลุ่มน้ำโขงเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตกนักล่าอาณานิคม ผู้กระหายการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่าจากซีกโลกตะวันออก โดยนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ อองรี มูโอต์ ได้เข้ามาเก็บข้อมูลสำรวจแม่น้ำโขงระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๐๑ – ๒๔๐๔ ในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ นั่นเป็นจุดเริ่มของการศึกษาเพื่อจะเข้ามายึดครองประเทศใหญ่ในเขตลุ่มน้ำโขง
ลัทธิอาณานิคมฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศเขมร ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ และบุกยึดครองประเทศเวียดนามอย่างเบ็ดเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ พร้อมกับการขยายอิทธิพลบุกยึดประเทศลาวในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ และมีเป้าหมายต่อไปคือประเทศสยาม
ประเทศสยามต้องตกอยู่ในวงวนของการล่าอาณานิคมฝรั่งเศส แม้ไม่สูญเสียอิสรภาพทั้งประเทศแต่ก็สูญเสียแผ่นดิน นามแคว้นสิบสองจุไท ในปี ๒๔๓๑ และดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ทิ้งปัญหาไม่เป็นธรรมเรื่องการปักปันพรมแดนไทย – ลาว ในแนวแม่น้ำโขงที่ไม่ได้ถือร่องน้ำลึกแม่น้ำเป็นแนวเขตแต่ถือร่องน้ำที่ติดฝั่งไทยเป็นเกณฑ์
ยุคสมัยใหม่
การพัฒนาในลุ่มน้ำโขงในระยะแรกนั้น มีความสัมพันธ์กับการเมืองในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองแบบทุนนิยมของผู้นำโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา และลัทธิสังคมนิยมที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก ประเทศไทยในช่วงเวลานั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านต่างมีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสเกือบทั้งสิ้น
แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักในภูมิภาคอินโดจีน จึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีแผนการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค ที่แฝงไว้ด้วยข้อตกลงทางการเมืองและการทหาร ภายใต้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากรัฐบาลอเมริกา เช่น การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ในฐานทัพ การสร้างถนนเพื่อเป็นถนนสายยุทธศาสตร์
ในระยะแรกมีการจัดตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong Committee) ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง เพื่อวางแผนการพัฒนาภายใต้วัตถุประสงค์ ส่งเสริม สนับสนุนงบประมาณ ประสานงาน ให้คำแนะนำ และควบคุมแผนการสำรวจเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำและพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคม ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น อาทิ เนื้อไม้ สมุนไพร ซากสัตว์ ป่า ทองคำ อัญมณี ฯลฯ ถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม จากเกษตรกรรมธรรมชาติ สู่ระบบทุนนิยม สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และอำนาจแก่มหาอำนาจได้อย่างแนบเนียน
แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ – ๒๕๒๐ การดำเนินงานของคณะกรรมการแม่น้ำโขงได้หยุดชะงักลง เนื่องจากเกิดสงครามอินโดจีน และอุดมการณ์ที่แตกต่างทางการเมืองของประเทศสมาชิกในเวลานั้น ทำให้ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ถอนตัวจากการเป็นสมาชิก ภายหลังจากการถอนตัวได้มีการตั้งคณะกรรมการประสานงานชั่วคราวขึ้น
ในช่วงสงครามเย็น ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๓๒ จากการถอนตัวของประเทศสมาชิก ทำให้การดำเนินงานของคณะกรรมการแม่น้ำโขงหยุดชะงักลง ในช่วงท้ายของยุคสงครามเย็น ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง เนเธอร์แลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ได้เข้ามาในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่คณะกรรมการ ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา และบทบาทของธนาคารพัฒนาเอเซีย ที่รุกเข้ามาในลุ่มน้ำโขงแทนคณะกรรมการประสานงานชั่วคราว ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ
ภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง การค้าขายระหว่างประเทศจีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นขึ้นภายใต้วาทกรรมของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า “แมวจะสีอะไรก็ตามขอให้จับหนูได้เป็นพอ” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่แรงจูงใจในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ รวมถึงแหล่งทุนต่างประเทศเปิดช่องทางให้ด้วย รวมทั้งหลังจากการผลัดเปลี่ยนสู่ผู้นำรุ่นที่สามของจีนได้อย่างราบรื่น จีนได้เริ่มประกาศระบบเศรษฐกิจการตลาดสังคมนิยมแบบเปิดและสั่งการได้ เช่น เดียวกับวาทกรรม “หนึ่งประเทศสองระบบ” ที่เคยใช้กับเกาะฮ่องกง นอกจากนี้ในรายละเอียดของโครงร่างปฏิรูปประเทศแห่งสมัชชาประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ ๑๖ เมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ ยังต้องการเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจการค้าของจีนสู่ภูมิภาคอื่น ๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ให้สูงยิ่งขึ้น แต่ฐานคิดการปฏิรูปนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการของจีนหลายท่านว่าละเลยภาคชนบทหรือเกษตรกรด้วยการเพิ่มภาคอุตสาหกรรมในเขตเมืองจะทำให้เกิดการอพยพของคนชนบทเข้าเมืองและจะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งยังละเลยความคิดเรื่องระบบนิเวศน์และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องสูญเสียไปอย่างมหาศาล เพื่อป้อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของเมืองใหญ่
ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เกิดการรวมตัวของ ๖ ประเทศภายใต้แผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Great Mekong Subregion GMS) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์ การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางรถยนต์ ทางรถไฟ ตลอดถึงการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง รวมไปถึงการกลับมาของความร่วมมือระหว่างประเทศ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในโฉมหน้าใหม่ภายใต้ชื่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) นอกจากนี้ยังมีแผนความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างไทย พม่า ลาว จีน ที่ยิ่งชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาลุ่มน้ำโขงเป็นการตอบสนองเพื่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแต่เพียงทางเดียว และโดยเฉพาะหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี ๒๕๔๕ การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของประเทศสังคมนิยม ยังผลให้เกิดการผลักดันการใช้ทรัพยาการธรรมชาติในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบนเพิ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนเพื่อตอบสนองเขตอุตสาหกรรมในจีน รวมทั้งเพื่อการเพิ่มการค้าและตัวเลขทางเศรษฐกิจ – การบริโภคด้วยการเปิดเขตการค้าเสรีไทย – จีน (FTA) ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และกำลังผลักดันการค้าเสรีอาเซียนจีนอยู่อย่างจริงจังอีกด้วย
การประมงและการเกษตรในที่ราบลุ่ม
การทำการประมงและการทำการเกษตรเป็นวิถีชีวิตหลักของประชาชนในลุ่มน้ำโขง คนที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มจะปลูกข้าว ส่วนคนที่อยู่ที่สูงจะทำไร่และหาปลาจากแม่น้ำสาขา บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงและบริเวณปากแม่น้ำก็เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ทำการประมงน้ำจืดเพื่อเลี้ยงชีพและขายในตลาดของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงจะมีบทบาทในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยรูปแบบของกิจกรรมและบทบาทจะสัมพันธ์กับการผลิตอาหาร เชื้อเพลิงและน้ำ
ระบบการใช้ประโยชน์จากที่ดิน การเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเกี่ยวข้าว การประมง รวมไปถึงระบบประเพณีวัฒนธรรม เช่น การแข่งเรือ การไหลเรือไฟ จะมีความเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมและฤดูกาลขึ้นลงของแม่น้ำโขง
ชาวบ้านจะใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีพื้นบ้านในการจัดการน้ำและตะกอนดินจากทุ่งนา การทำเครื่องมือจับปลาและตาข่ายที่พัฒนามาจากการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
ในลุ่มน้ำโขงปลาจึงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้ ทะเลสาบเขมรถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตปลาที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ผลผลิตในแต่ละปีจะมีปริมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ตัน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชาวกัมพูชาถึง ๙.๕ ล้านคน รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว มีการบริโภคปลาจำนวน ๘๕ % ของประชากร
ทะเลสาบเขมรถือเป็นตัวอย่างของความหลากหลายของระบบนิเวศน์ในภูมิภาคนี้ และมีความสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของชุมชน โดยปกติทะเลสาบจะมีน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำในระหว่างฤดูฝนและจะค่อย ๆ ลดลงตลอดระยะเวลาที่เหลือในแต่ละปี จากการที่ระดับน้ำในทะเลสาบสูงขึ้นและท่วมบริเวณป่าไม้ที่อยู่รอบ ๆ ทะเลสาบ ปลาจึงเข้าไปอาศัยและแพร่พันธุ์ เมื่อระดับน้ำลดลง ปลาได้อพยพออกจากแหล่งดังกล่าวไปสู่แหล่งน้ำ ลำห้วยสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำโขง
ประมาณ ๘๕ % ของการผลิตข้าวในที่ราบน้ำท่วม รอบ ๆ ทะเลสาบและแม่น้ำโขงขึ้นอยู่กับตะกอนดินที่เกิดจากน้ำท่วมซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง ดังนั้นในการผลิตข้าวจึงมีความผูกพันกับวงจรของการเกิดน้ำท่วม น้ำขังในระบบของทะเลสาบเขมรและลุ่มน้ำโขง
ฤดูกาลธรรมชาติของแม่น้ำโขงก่อให้เกิดภูมิปัญญาในการใช้และไม่ใช้ หรือจะใช้อย่างไร ทั้งในการผลิตการเกษตรกรรมและการประมงก็ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศย่อยที่ต่างกันออกไป กระทั่งได้ก่อเกิดวัฒนธรรมที่หลากหลายตลอดสองฝั่งริมแม่น้ำโขง
แม่น้ำกับชีวิต
สำหรับผู้คนในถิ่นนี้ แม่น้ำโขงเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา และยังเป็นเหมือนจิตวิญญาณของพวกเขาด้วย ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า ๖๐ ล้านคน มีชีวิตผูกสัมพันธ์กับแม่น้ำโขงรวมถึงแม่น้ำสาขาด้วย ลุ่มน้ำโขงจึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ เป็นแหล่งน้ำใช้เพื่อการเกษตร การเดินทาง การขนส่ง และอีกมากมายหลายกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนในถิ่นนี้
จากที่ระดับน้ำขึ้น – น้ำลงในแม่น้ำโขงที่มีความแตกต่างกันระหว่างฤดูฝนและฤดูแล้งถึง ๒๐ เมตรนั้น ส่งผลให้ชุมชนริมฝั่งโขงมีวิถีการผลิตที่แตกต่างกันออกไปตามธรรมชาติของน้ำในแม่น้ำโขง
ชุมชนริมฝั่งโขงรู้และเข้าใจดีว่า เมื่อถึงปลายพฤษภาคม – ต้นเดือนมิถุนายน เป็นเวลาที่น้ำจะขึ้น สัมพันธ์กับฤดูกาลคือเป็นช่วงฤดูฝน และจะเริ่มยกระดับน้ำขึ้นไปเรื่อยจนถึงเดือนสิงหาคม เมื่อถึงตุลาคมน้ำจะทรงตัว และเริ่มลดระดับลงเรื่อยในเดือนพฤศจิกายนซึ่งเข้าสู่ฤดูแล้ง ขณะเดียวกัน เดือนที่น้ำลดลงมากที่สุดคือเดือนเมษายน และเดือนที่น้ำขึ้นในระดับสูงมากที่สุดคือประมาณเดือนสิงหาคม
ฤดูกาลของน้ำขึ้นหรือลงในแม่น้ำโขง ส่งผลให้ชุมชนมีวิถีการผลิตที่แตกต่างกันไป ในช่วงน้ำลงจึงสามารถทำการเพาะปลูกพืชผักบนที่ดินริมโขง ส่วนการหาปลาหาได้ตลอดทั้งปี คนหาปลาแม่น้ำโขงรู้ดีว่า ช่วงที่ปลาขึ้นจะขึ้นตามน้ำ คือเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน และช่วงที่ปลาลงก็จะลงตามน้ำเช่นกัน คือในเดือนตุลาคม ปลาจะรู้จักสภาพน้ำ เมื่อน้ำขึ้นก็ขึ้นตามน้ำ เมื่อน้ำลงก็ลงตามน้ำ
ฤดูกาลน้ำขึ้นลงตามธรรมชาติในทุกปี ทำให้ชุมชนริมฝั่งโขงเรียนรู้จนสามารถทำนายอนาคตได้ว่า เมื่อถึงตอนที่น้ำลดลง วิถีการทำมาหากินจะเปลี่ยนไปในอีกรูปแบบหนึ่ง และเมื่อถึงเวลาที่น้ำขึ้น ก็เป็นอีกวิถีหนึ่งเช่นกัน การปลูกผัก ปลูกข้าว ทำไร่ ทำสวน จึงมีความสัมพันธ์กันไปธรรมชาติของแม่น้ำ ปรับตัวไปตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความกลมกลืนและความเหมาะสมตามฤดูกาล แม่น้ำโขงจึงเป็นแหล่งอาหาร แหล่งชีวิต เสมือนแม่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาเป็นเวลาเนิ่นนานปี